บทความนี้ ขอนอกเรื่องหน่อย..... ขอเอาเรื่องของลูกวัย 2-3 ขวบที่วันนี้นับว่า ป่วนนนนนนน จริงๆ มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครมีปัญหาเช่นเดียวกันนี้ . . . .
ตอนนี้ลูกชายอายุ 2 ขวบกว่า จะเอาแต่ใจตัวเองเป็นอย่างมาก คิดว่าตัวเองนั้นใหญ่ ใครๆต้องทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่นเห็นอะไรก็จะเอาเป็นของตัวเองหมด ขนมของคนอื่น ก็ไปแย่งมา บอกว่าเป็นของตัวเอง จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ ดุว่ากล่าวอะไรก็ไม่ฟัง บางครั้งก็งอน หากว่ากล่าวมากๆ ก็จะเดินงอนหนีไปหาคนอื่น ที่พร้อมจะเอาใจ หนักๆเข้าเดี๋ยวนี้ ให้ทำอะไรบางครั้งก็ไม่ทำตาม เช่นให้ถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ก็ไม่ยอม ร้องไห้ดิ้นท่าเดียว บางครั้งต้องเอาไม้เรียวมาคอยกำกับ จึงจะยอมอาบแบบสะอื้น แต่บางครั้งยอมโดนก็เอา ไม่อาบท่าเดียว เฮ้อ!
บางครั้งไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ก็ฟาดเจ้าตัวป่วนไปหลายครั้งเหมือนกัน พอฟาดเข้าไป ก็ต้องมานั่งเจ็บเอง ไม่ได้เจ็บตัวนะ แต่มานั่งเจ็บใจ เราไม่น่าตีลูกของเราเลย มันเจ็บจริงๆ นี่ลูกของเรานะ ได้แต่นึกอยู่ในใจไม่ทันไร เอาอีกแล้ว ป่วนอีกแล้ว . . . . .
คืนหนึ่งนั่งเปิด Web หาโรงเรียนที่จะส่งลูกไปเรียนเตรียมอนุบาล เพราะคิดว่าน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะให้ลูกได้ปรับพฤติกรรมในการเข้าสังคมอยู่บ้าง ก็มาเจอ Web นี้เข้า แล้วก็เจอหัวข้อ ตัวป่วน.... อ่านแล้วคิดว่า น่าจะมีทางออกที่ดีกว่าการมาเปียะลูกๆด้วยไม้เรียว (ไม้เรียวใช้สร้างคนให้เป็นคน แต่คนสร้างมันเจ็บนะ)
เว็บรักลูกนั่นเอง http://www.raklukefamilygroup.com
อ่านแล้วเห็นว่าดีก็เลยขออนุณาตคัดบทความมาเผยแพร่ต่อ เผื่อใครมีปัญหาเช่นเดียวกัน จะได้แนวทางไปปรับใช้บ้าง จะไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจเช่นเรา อ่านบทความแล้วรู้สึกดีมากๆ ต้องขอขอบคุณมากๆเลย
ที่มาและเจ้าของบทความ http://www.raklukefamilygroup.com
|
 |
|
|
เจ้าหนูจอมป่วน |
 |
หมวด : เติบใหญ่วัยเยาว์
|
 |
กลุ้มใจจัง..ลูกไปที่ไหนวงแตกระเจิงที่นั่น ทำอย่างไรจึงจะหยุดเจ้าตัวป่วนได้
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 2 ย่าง 3 ขวบนี้ คงจะต้องเคยพบกับอาการ "ป่วน" ของลูกวัยนี้กันมาบ้างแล้ว ลูกวัยนี้ยังไม่รู้จักการเข้ากลุ่มและเล่นกับคนอื่นยังไม่เป็น ถ้าเข้าใจพัฒนาการของลูกวัยนี้สักนิด ก็จะรู้ว่าอาการป่วนจนวงแตกของลูกนี้ ไม่ใช่เรื่องควรกลัดกลุ้มกังวลใจแต่อย่างไร เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองโดยแท้
**ทำไมวงแตก**
เพราะในวัยนี้ ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งยังสนใจที่จะเล่นร่วมกับคนอื่นๆทั้งที่ยังเล่นไม่เป็น แต่ก็อยากรู้อยากเห็นว่าคนอื่นกำลังเล่นอะไรกัน บางครั้งเห็น"พี่เอก"กำลังต่อหอคอยอยางสนุกสนาน หลังจากเมียงๆมองๆเจ้าตัวป่วนก็พร้อมจะเดินเข้าไปผลักหอคอยทิ้งอย่างหน้าตาเฉย นั่นคือวิธีการหนึ่งที่เจ้าตัวป่วนกำลังจะบอกว่า "ขอเล่นด้วยคน" หรือ"เล่นอะไรน่าสนุกจัง"
สาเหตุของอาการป่วนจนวงแตกนั้น เป็นเพราะ....
เป็นตัวของตัวเอง
แม้ลูกจะเติบโตมากขึ้น แต่ในวัยนี้เขายังถือตนเองเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างยังเป็น "นี่ของหนู" "นั่นของหนู"และ "ของทุกชิ้นในโลกนี้เป็นของหนู" ทำให้ไปล่วงล้ำก้ำเกินผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ ยิ่งถ้าถูกแวดล้อมจากผู้ใหญ่ที่รักและตามใจเขามาก ๆ ลูกจะยิ่งทวีความรู้สึกว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง ถือเอาตนเองเป็นใหญ่ไม่สนใจใครทั้งสิ้น ดังนั้นหากถูกขัดใจก็อาจจะโมโหอาละวาดได้ง่าย ๆ ความเป็นตัวของตัวเองนี่แหละ เป็นเหตุหลักให้เจ้าตัวป่วนยากที่จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม เล่นกันดี ๆ กับคนอื่นได้นาน ๆ
เหมือนเอาแต่ใจ
เด็ก 2-3 ขวบยังไม่รู้จักควบคุม หักห้าม ความรู้สึกอยากได้ อยากทำของตนเองได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นเมื่อเห็นใครเขาเล่นก็อยากเล่นขึ้นมาบ้าง จึงเข้าไปแย่งหรือหยิบทันที แกจึงกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจในสายตาพี่ ๆ เพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่ที่พบเห็น เมื่อไรที่ได้รับการสอนให้รู้จัก"ของเขา ของเรา" รวมทั้งปฏิกิริยาที่ได้รับ แกจะเรียนรู้มากขึ้นและปรับตัวให้เข้ากลุ่มได้มากขึ้น
ขี้หวง
เพราะความรู้สึกตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของหนู ทำให้เด็กลูกในวัยนี้ยากที่จะเข้าใจคนอื่น แกจะกลายเป็น "งูหวงไข่"แสนดุ ทั้งยังไม่ยอมแบ่งปัน ของเล่นให้ใครได้ง่ายๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะความขี้หวงนี้จะค่อย ๆ ลดลงไปได้เมื่อโตขึ้นค่ะ
แบบอย่างของการเล่น
ประสบการณ์และวิธีการเล่นที่เด็กเรียนรู้จากบ้าน เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ถ้าที่บ้านชอบเล่นลงไม้ลงมือ เตะต่อยกันแรง ๆ เมื่อมาเล่นกับเพื่อนหรือคนอื่น เด็กก็จะติดวิธีเล่นแบบนั้นมาใช้นอกบ้าน โดยถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่เด็กคนอื่นไม่คุ้นเคยและไม่สนุกด้วยจึงเกิดเรื่องขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังท่าทีในการเล่นกับลูกให้ดี เพราะนั่นคือแบบอย่างที่เขาจะจดจำไปเล่นกับเพื่อน ๆ ต่อไป
**วิธีช่วยเจ้าตัวป่วน**
วิธีง่าย ๆ เหล่านี้ จะช่วยพัฒนาลูกสู่การเล่นกับคนอื่นได้โดยไม่ถูกกีดกัน ทำให้กลุ่มยอมรับ และเป็นการเสริมให้ลูกก้าวสู่สังคมนอกเหนือจากตัวของแกได้มั่นใจมากขึ้น
ของเขา-ของเรา
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น ด้วยการสอดแทรกเรื่องของเรา-ของเขาไประหว่างที่เล่นหรือพูดคุยกับลูก บอกให้ลูกรู้ว่าสิ่งนี้เป็นของหนู สิ่งนั้นเป็นของคุณแม่ สิ่งโน้นเป็นของคุณพ่อ ฯลฯ พร้อมอธิบายสั้น ๆ ถึงท่าทีที่ควรมีต่อสิ่งของของผู้อื่น ก็จะเป็นการปูพื้นให้ลูกรู้จักแยกแยะและเข้าใจคำว่า "ของเขา" และ "ของเรา" ได้มากขึ้น
รู้จักให้
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปลูกฝังให้ลูกรู้จักไว้ และทำให้เขาเห็นว่าการ "ให้" เป็นสิ่งที่ดี เช่น เมื่อลูกให้ของคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องชมเชย ชื่นชมว่าทำดี และเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมนี้บ่อย ๆ เช่น ให้เด็กเป็นคนมอบของให้ผู้ใหญ่ รวมไปถึงการทำบุญให้ทานในรูปแบบอื่น ๆ เด็กจะได้สัมผัสกับความชื่นชมและคำขอบคุณของผู้รับ
เล่น..การเรียนรู้ที่ดี
การให้ลูกได้มีโอกาสคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมและเล่นกับคนอื่น ๆ เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ประสบการณ์ตรงที่ลูกได้รับทำให้ลูกเรียนรู้ว่า สิ่งที่ทำไปนั้นดีหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นถ้าลูกไม่มีพี่น้องร่วมเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรหาโอกาสพาลูกไปเล่นกับเด็กอื่นบ่อย ๆ แม้ว่าเขาจะยังพอใจกับการเล่นคนเดียว แต่การได้ไปพบเด็กอื่น ๆ หรือเห็นว่าคนอื่นเขาเล่นกันอย่างไร จะสร้างความคุ้นเคยและช่วยให้ลูกปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น
แม้ช่วงนี้จะมีปัญหาในการเล่นกับคนอื่นบ้าง แต่การเล่นเพื่อจะได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้พัฒนาการทางสังคมของลูกเป็นไปอย่างดีและถูกต้อง เขาจะเรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้นำ-ผู้ตาม ได้รู้จักการใส่ใจคนอื่น ๆ รวมถึงการรู้จักเสียสละ อดทน รอคอย ซึ่งจะให้เด็กปรับตัวอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ดีต่อไปในอนาคต
อย่าลืมว่า...
* เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และยังเล่นกับคนอื่นไม่เป็น เพราะฉะนั้นหากลูกยังพอใจที่จะเล่นคนเดียวตามลำพัง หรือชอบเล่นกับผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย อย่างคุณพ่อคุณแม่ ก็อย่าเป็นกังวลว่าลูกผิดปกติแต่อย่างใด
* ค่อย ๆ ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไปทีละน้อย อย่ารีบร้อน บังคับให้เด็กทำตาม เพราะจะเป็นการยั่วยุให้เด็กต่อต้าน ไม่ยอมทำตามมากยิ่งขึ้น
* แม้ว่าเด็กวัยนี้จะไม่เข้าใจเรื่องของเหตุผล แต่การอธิบายบอกกล่าวให้รับรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ก็ยังเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรกระทำ
* ควรอธิบายให้พี่ที่โตกว่าเข้าใจพฤติกรรมของน้องวัยนี้ว่าเป็นอย่างไร และพยายามช่วยไกล่เกลี่ยหากเด็ก ๆ เกิดทะเลาะกันขึ้น
* เด็กจะสังเกตและจดจำพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใหญ่และเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ ตัว เพราะฉะนั้นต้องระวังและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย เช่น ถ้าพร่ำสอนเด็กรู้จักให้ แต่ไม่เคยทำให้เห็นเลย ก็คงจะยากที่เด็กจะเข้าใจ
|
|
|